ทำทาน 40 บาท แล้วสบายใจ ได้บุญมากกว่าทำทาน 10000 นึงแล้วกลุ้มใจ

อยากรวยต้องมีทานจิต
จิตที่คิดให้คน จิตที่คิดช่วยคน
จิตที่เป็นทานจิต จิตที่คิดจะให้ เป็นสิ่งมงคล
ที่ทำให้คนคนนั้น มีลาภมาก มีโชคมาก
เจริญ และเป็นที่รัก

แต่กว่าคนเราจะทำทานได้ถูก ก็ไม่ใช่ง่ายๆ
หลายคนทำทาน เหมือนการลงทุน
หวังหวย หวังรวย ขอโน้นขอนี่
แบบนั้นเป็นจิตที่คิดจะเอา ไม่ใช่จิตที่คิดจะให้

วันนี้ผมเลยเขียนบทความมาฝากกัน
เพื่อให้เข้าใจเรื่องการทำทานที่ถูกต้องครับ

ทำทาน 40 บาท แล้วสบายใจ
ได้บุญมากกว่าทำทาน 10000 นึงแล้วกลุ้มใจ

บางคนทำทานมากไป บางคนทำทานน้อยไป
บางคนอวดที่ทำทานมาก บางคนอายที่ทำทานน้อย
บางคนเคยทำทานมากๆ แล้วมาทำน้อยๆไม่ได้
บางคนชอบทำคนเดียวไม่ชอบร่วมบุญกับใคร

เมื่อทำทาน บุญเกิดที่ใจ จะได้บุญมากน้อย
ไม่ได้เกี่ยวกับจำนวนเงิน
แต่จะเกี่ยวกับความชุ่มชื่นหัวใจ

พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนว่า
บริจาคเงินมากๆแล้วจะได้บุญมากเลย

ท่านสอนว่า เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทานชื่อว่ามีผลน้อย ย่อมไม่มี

ท่านสอนว่า แม้การสาดน้ำล้างภาชนะ
ที่มีเศษข้าวเศษอาหาร ลงไปในบ่อน้ำครำ
ด้วยเจตนาที่จะให้สัตว์ ที่อาศัยอยู่ในที่เหล่านั้นได้กิน

ก็ยังมีอานิสงส์ไม่น้อย จะป่วยกล่าวไปไยกับการให้ทานในผู้มีศีล หรือในบุคคลหมู่มากที่ประพฤติปฏิบัติตรง

เราต้องหาจุดพอดี สบายใจ ในการทำทานของเราให้เจอ
แล้วทำในจุดที่สบายใจ

ไม่เลื่อมใสในที่ใด ก็ไม่ต้องบริจาคก็ได้

แต่เลื่อมใสในที่ใด ก็ทำ
แล้วทำในจุดที่พอดี ตามกำลังตน โดยไม่กระทบตน

หลายคนชอบทำบุญมาก
พอช่วงไหนมีกำลังทำได้น้อย ก็ไม่ทำบุญไปเลย

ยุคนี้โอนเงินไม่เสียค่าโอน
มีบุญอะไรเราอยากทำก็ โอน 10 บาท 20 บาท
เพื่อร่วมกองบุญนั้นๆ ได้ง่ายเลย ไม่ต้องจ่ายค่าโอน

การร่วมเข้ากองบุญกัน
หมายถึง เราทำด้วยกัน จะได้บุญเสมอกัน

สำคัญที่ เราต้องตั้งกำลังใจของเราให้เป็น
จิตเราต้องจับภาพกว้างให้เป็น

เช่น ร่วมถวายพระ ร่วมสร้างโรงพยาบาล ร่วมเจาะบ่อน้ำ
คิดภาพพระ ภาพโรงพยาบาล ภาพบ่อน้ำนั้นๆเลย
ว่าเราเป็นเจ้าภาพร่วมทำ

ไม่ใช่ว่าเราทำ 20 บาท 100 บาท
โครงการใช้เงินหลายหมื่นแสน
เราจะไปมองว่าเราทำน้อยไม่ได้
จิตเราวางไม่เป็น วางไม่ถูก

บุญ แม้ไม่ได้ทำเลย
แค่อนุโมทนา ก็ได้บุญมากแล้ว หากวางใจเป็น
แล้ว หากร่วมบุญด้วยแล้ว วางใจเป็น
ก็ได้อานิสงส์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ไม่ได้ต่างจากการทำมากๆเลย

*******

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
การให้ข้าวและน้ำ ชื่อว่าให้กำลัง
การให้ผ้า เครื่องนุ่งห่ม ชื่อว่าให้ผิวพรรณ
การให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุขทั้งกายและใจ
การให้ประทีบดวงไฟ ชื่อว่าให้ดวงตา
การให้ที่อยู่อาศัย ชื่อว่าให้ทุกอย่าง
คือให้กำลัง ให้ผิวพรรณ ให้ความสุขและให้ดวงตา

แต่การพร่ำสอนธรรม คือการให้ธรรมะ
ชื่อว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย
เพราะบุคคลจะพ้นจากความตาย ไม่ต้องเกิดอีกได้
ก็เพราะอาศัยการได้สดับตรับฟังธรรม

ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง

เพราะคนเราจะทำทานได้ถูกต้อง
ก็ต้องอาศัยการฟังธรรม

******

ถ้าท่านอ่านมาถึงตรงนี้ได้แล้ว
แปลว่าท่านมีความเพียรมาก
งั้นอ่านเรื่องด้านล่างต่อเลย
เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นในเรื่องทาน

*******

เรื่องเศรษฐีเท้าแมว
เรื่องนี้เกิดขึ้น ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่

อุบาสกผู้หนึ่งไปฟังธรรมที่วัดเชตวัน ในกรุงสาวัตถี
ได้ยินพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
"บุคคล บางคนให้ทานด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น
เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาย่อมได้รับโภค
สมบัติ แต่ไม่ได้รับบริวารสมบัติ ในที่ๆ เขาไปเกิด

ส่วนบางคนตนเองไม่ให้ทาน แต่เที่ยวชักชวนคนอื่นให้ให้ทาน เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมได้รับแต่บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้รับโภคสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด

ส่วนบางคนตนเองก็ไม่ให้ทาน ทั้งไม่ชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ย่อมไม่ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด

ส่วนบางคนตนเองก็ไห้ทาน ทั้งยังชักชวนคนอื่นให้ให้ทานด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเขาตายไป เขาก็ได้รับทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติในที่ๆ เขาไปเกิด"

อุบาสกผู้นี้เป็นบัณฑิต ได้ฟังดังนั้นก็คิดจะทำบุญให้ได้รับผลครบทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ

เขาจึงเข้าไปกราบทูลขอถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวกทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น

พระพุทธเจ้าก็ทรงรับคำอาราธนานั้น
อุบาสกนั้นจึงได้เที่ยวป่าวร้องไปตามชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลาย ชักชวนให้บริจาคข้าวสารและของต่างๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารถวายก็ได้รับสิ่งของต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามศรัทธาและฐานะของผู้บริจาค

อุบาสกคนนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนี้ จนมาถึงร้านค้าของท่านเศรษฐีผู้หนึ่ง ท่านเศรษฐีเกิดไม่ชอบในที่เห็นอุบาสกนั้นเที่ยวป่าวร้องไปอย่างนั้น ท่านคิดว่า "อุบาสกคนนี้เมื่อไม่สามารถถวายอาหารแก่พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกทั้งวัดเชตวันได้ ก็ควรจะถวายตามกำลังของตน ไม่ควรจะเที่ยวชักชวนคนอื่นเขาทั่วไปอย่างนี้"

เพราะเหตุที่คิดอย่างนี้ แม้ท่านจะร่วมทำบุญกับอุบาสกนั้นด้วย แต่ท่านก็ทำด้วยความไม่เต็มใจ ได้หยิบของให้เพียงอย่างละนิดละหน่อย คือใช้นิ้ว ๓ นิ้วหยิบของนั้น จะหยิบได้สักเท่าไร เวลาให้น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ก็ให้เพียงไม่กี่หยด เพราะเหตุที่ท่านมือเบามาก หยิบของให้ทานเพียงนิดหน่อย คนทั้งหลายก็เลย ตั้งชื่อท่านว่า เศรษฐีเท้าแมว เป็นการเปรียบเทียบความมือเบาของท่านกับความเบาของเท้าแมว

อุบาสกนั้นเป็นคนฉลาด เมื่อรับของจากท่านเศรษฐีจึงได้แยกไว้ต่างหาก ไม่ได้รวมกับของที่ตนรับมาจากผู้อื่น

เศรษฐีก็คิดว่า "อุบาสกนี้คงจะเอาเราไปเที่ยวประจานเป็นแน่" เมื่อคิดอย่างนี้ จึงใช้ให้คนใช้ติดตามไปดู คนรับใช้ได้เห็นว่าอุบาสกนั้นนำเอาของของเศรษฐีไปแบ่งใส่ลงในหม้อที่ใช้หุงต้มอาหารนั้นหม้อละนิด อย่างข้าวสารก็ใส่หม้อละเมล็ดสองเมล็ดเพื่อให้ทั่วถึง

พร้อมกับกล่าวให้พรท่านเศรษฐีด้วยว่า "ขอให้ทานของท่านเศรษฐีจงมีผลมาก"

คนรับใช้ก็นำความมาบอกนาย
ท่านเศรษฐีก็คิดอีกว่า "วันนี้เขายังไม่ประจานเราพรุ่งนี้เวลานำเอาอาหารไปถวายพระที่วัดเชตวัน เขาคงจะประจานเรา ถ้าเขาประจานเรา เราจะฆ่าเสีย"

ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นท่านจึงเหน็บกริชซ่อนไว้แล้วไปที่วัดเชตวัน ในเวลาที่อุบาสกและชาวเมืองช่วยกันอังคาสเลี้ยงดูพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อช่วยกันถวายภัตตาหารแล้ว

อุบาสกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เที่ยวชักชวนมหาชนให้ถวายทานนี้ขอให้
คนทั้งหลายผู้ที่ข้าพระองค์ชักชวนแล้ว บริจาคแล้ว ทั้งผู้บริจาคของมาก ทั้งผู้บริจาคของน้อย จงได้รับผลมากทุกคนเถิด"

ท่านเศรษฐีได้ยินแล้วก็ไม่สบายใจ กลัวอุบาสกจะประกาศว่า ท่านให้ของเพียงหยิบมือเดียว คิดอีกว่า "ถ้าอุบาสกเอ่ยชื่อเรา เราจะแทงให้ตาย" แต่อุบาสกนั้นกลับกราบทูลว่า "แม้ผู้ที่
บริจาคของเพียงหยิบมือเดียว ทานของผู้นั้นก็จงมีผลมากเถิด"

ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็ได้สติ
คิดเสียใจว่า "เราได้คิดร้ายล่วงเกิดต่ออุบาสกนี้อยู่ตลอดเวลา
แต่อุบาสกนี้เป็นคนดีเหลือเกิน ถ้าเราไม่ขอโทษเขา เราก็เห็นจะได้รับกรรมหนัก"

คิดดังนี้แล้ว จึงเข้าไปหมอบแทบเท้าของอุบาสกนั้น เล่าเรื่องให้ฟังพร้อมทั้งขอให้ยกโทษให้ พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นกริยาอาการของท่านเศรษฐีอย่างนี้ก็ตรัสถามขึ้น

เมื่อทรงทราบแล้วจึงได้ตรัสว่า
"ขึ้นชื่อว่าบุญแล้ว ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย ทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขเช่นนี้ ไม่ควรดูหมิ่นว่าบุญนี้เล็กน้อย คนที่ฉลาดทำบุญอยู่ ย่อมเต็มด้วยบุญ เหมือนหม้อน้ำที่เปิดปากไว้ ย่อมเต็มด้วยน้ำฉันนั้น"

ในตอนท้าย พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาว่า
"บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญเล็กน้อยว่าจะไม่มาถึง แม้หม้อน้ำก็ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาฉันใด ผู้ฉลาดเมื่อสะสมบุญแม้ทีละน้อยทีละน้อย ก็ย่อมเต็มด้วยบุญฉะนั้น"

แสดงความคิดเห็นบทความนี้ ผ่าน facebook